อังกฤษพบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์มีประสิทธิภาพกับตัวกลายพันธุ์ แต่ต้องฉีดครบ 2 โดส

62

การฉีดวัคซีนครบ 2 โดสทั้งของแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์ มีประสิทธิภาพในการต่อต้านตัวกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็วกว่าตัวดั้งเดิม ทั้งตัวกลายพันธุ์ในอินเดียและในสหราชอาณาจักร จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอังกฤษในวันเสาร์(22พ.ค.)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสหราชอาณาจักรระบุว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นการค้นพบใหม่ และเขามีความหวังมากขึ้นเรื่อยๆรัฐบาลจะสามารถยกเลิกข้อจำกัดสกัดโควิด-19 ได้เพิ่มเติมในเดือนหน้า

ผลการศึกษาของสาธารณสุขอังกฤษพบว่าวัคซีนของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ B.1.617.2 แบบแสดงอาการ 88% ราว 2 สัปดาห์หลังจากฉีดโดสที่ 2 ขณะเดียวกันมันมีประสิทธิภาพสูงถึง 93% ในการป้องกันการติดเชื้อ B.1.1.7 หรือตัวกลายพันธุ์ “เคนท์” ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในสหราชอาณาจักร

ส่วนวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า เมื่อฉีดครบ 2 โดส มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการตัวกลายพันธุ์อินเดีย 60% และ 66% ในการป้องกันการติดเชื้อตัวกลายพันธุ์เคนท์ สาธารณสุขอังกฤษระบุ

“ผมเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเราอยู่บนเส้นทางของโร้ดแมป เพราะว่าข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าหลังจากฉีดวัคซีนครบ 2 โดส มันได้ผล มีประสิทธิภาพกับตัวกลายพันธุ์อินเดียเช่นกัน” แมตต แฮนค็อค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสหราชอาณาจักรให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนท้องถิ่น

ภายใต้แผนของรัฐบาล พวกเขามีกำหนดยกเลิกข้อจำกัดสกัดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เหลืออยู่นับตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายนเป็นต้นไป

สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่ดำเนินโครงการฉีดวัคซีนรวดเร็วที่สุดชาติหนึ่งของยุโรป แต่เวลานี้ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่จากการแพร่ระบาดของตัวกลายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในอินเดีย

ข้อมูลที่เผยแพร่ในวันเสาร์(22พ.ค.) พบเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในสหราชอาณาจักรในรอบ 7 วัน จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม เพิ่มขึ้น 10.5% แต่ยังถือว่าเป็นเศษส่วนน้อยจากระดับที่พบเห็นเมื่อช่วงต้นปี

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ออกคำสั่งเมื่อช่วงต้นเดือน ให้เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 แก่ประชาชนอายุ 50 ปีขึ้นไปและกลุ่มคนที่อ่อนแอทางคลินิก

สาธารณสุขอังกฤษเน้นว่าโดสแรกของวัคซีนทั้ง 2 ตัว มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการตัวกลายพันธุ์ B.1.617.2 เพียงแค่ 33% หลังฉีด 3 สัปดาห์ ผิดกับตัวกลายพันธุ์ B.1.1.7 ที่วัคซีนทั้งสองมีประสิทธิภาพในการติดเชื้อแบบแสดงอาการ 50%

ด้วยเหตุนี้ แฮนค็อค จึงชี้ว่าการเข้ารับวัคซีนครบ 2 โดส จึงมีความสำคัญอย่างที่สุด

ความกังวลเกี่ยวกับเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในอินเดีย ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในสหราชอาณาจักร กระตุ้นให้เยอรมนีออกประกาศในวันศุกร์(21พ.ค.) ว่าใครก็ตามที่เดินทางมาจากสหราชอาณาจักร จะต้องเข้ารับการกักกันโรคเป็นเวลา 2 สัปดาห์

ในวันเดียวกันนั้น หัวหน้าสถาบันสาธารณสุขของเยอรมนีระบุว่าวัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาจมีประสิทธิภาพลดลงในการต่อสู้กับตัวกลายพันธุ์ B.1.617.2

(ที่มา:รอยเตอร์ส)