วัคซีนในไทยไม่อันตรายอย่างที่คิด

31

อย่างที่เคยบอกเรื่อยๆ ว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับโรค COVID-19 นั้น ยังเป็นเรื่องที่ใหม่มากๆ ทำให้ข้อมูลนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อย่างเมื่อเดือนก่อนน่าจะจำได้ที่หมอเวรเคยลงข่าวว่ามีคนเป็นลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีด AstraZeneca แต่พอมาวันนี้มีข้อมูลอัพเดตว่า “มันอาจไม่ได้เป็นแบบนั้น”

โดยข้อมูลนี้หมอเวรนำมาจากคำสรุปบรรยายเรื่อง วัคซีน COVID-19 และการเกิดลิ่มเลือดของ อ.นภชาญ รพ.จุฬาฯ ที่เพิ่งพูดไปเมื่อวันก่อนน่ะนะ

อาจารย์เล่าให้ฟังว่า ไม่ต้องไปกลัวว่าฉีดวัคซีนแล้วจะเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันหรอกนะ เพราะจากการศึกษาตอนนี้ไม่ว่าจะวัคซีนแบบ อะดิโนไวรัส ของ AstraZeneca, Johnson and Johnson หรือแบบ mRNA ของ Pfizer , Moderna หรือแบบเชื้อตายอย่าง Sinovac

“ไม่ว่าวัคซีนที่ทำขึ้นด้วยวิธีไหน ก็ไม่ได้เพิ่มโอกาสเกิดหลอดเลือดอุดตันแต่อย่างใด”

ดังนั้น คนที่มีโรคประจำตัว เคยเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหลอดเลือดอุดตันมาก่อน ก็สามารถฉีดได้ไม่มีปัญหา

อ้าว แล้วข่าวก่อนหน้านี้ที่บอกว่า พอฉีด AZ กับ J&J แล้วเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำร่วมกับหลอดเลือดอุดตัน โดยเฉพาะที่สมองล่ะมันคืออะไรล่ะหมอ ?

คือจะบอกว่ากรณีนี้ โอกาสเกิดได้ต่ำมาก จากสถิติตอนนี้อัตราการเกิดอยู่ที่ 1:100,000 ถึง 1:500,000 เท่านั้น เรียกว่าโอกาสติดเชื้อโควิดแล้วป่วยหนักมีเยอะกว่าหลายเท่าตัวนัก และถึงแม้ใครฉีดไปแล้วบังเกิดเป็นเคสอย่างว่าจริงๆ ก็ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะภาวะนี้สามารถวินิจฉัยและรักษาได้ด้วยยาที่มีอยู่ในไทย

และถ้าจะห่วงเรื่องนี้ ว่ากันตามตรง ไปกังวลเรื่องภาวะหลอดเลือดอุดตันหลังเป็น COVID-19 ยังจะดีซะกว่า เพราะตอนนี้มีข้อมูลสถิติผู้ติดเชื้อออกมาใหม่ พบว่าหากเป็นโควิดจะมีโอกาสเกิดหลอดเลือดอุดตันสูงถึง 1 ใน 10 เลยทีเดียว (ฉีดวัคซีนคือ 1 ในแสนถึงห้าแสน)

แถมหลอดเลือดอุดตันจากโควิด เวลาเป็นคืออาการมันจะรุนแรงมากกว่าเคสที่เกิดจากวัคซีนด้วย อย่างที่ รพ.จุฬาฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน ก็เพิ่งมีคนไข้เกิดภาวะนี้จนต้องถูกตัดขาไปคนนึงเลย ทั้งๆที่ทีมแพทย์พยายามช่วยเต็มที่แล้ว

ทีนี้ประเด็นที่สื่อหลายๆที่ชอบพูดกัน ว่า AZ และ J&J มีผลข้างเคียงมากกว่า Pfizer และ Moderna แต่จริงๆนั้นไม่ใช่ เพราะวัคซีนสองตัวหลังนั้นก็มีอาการแพ้รุนแรงที่ทำให้ความดันเลือดตก หรือหลอดลมอุดกั้นเฉียบพลัน อยู่ที่ 1:100,000 ถึง 1:400,000 หรือบางทีก็มีรายงานว่าเกิดเกล็ดเลือดต่ำรุนแรงและมีเลือดออกได้ แต่อันนี้จะน้อยหน่อยที่ 1:1,000,000 ถึง 1:2,000,000

ส่วนคนที่กังวลเรื่องฉีด Sinovac แล้วกลัวว่าจะเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตล่ะก็ ทางสาขาวิชาประสาทวิทยาของรพ.จุฬาฯตอนนี้เค้าก็เช็คกันละเอียดแล้ว โดยทดสอบทั้ง MRI, MRA และ SPECT imaging ก็ไม่เจอคนที่เกิดหลอดเลือดสมองอุดตันเลย อาจเจอหลอดเลือดสมองส่วนปลายหดตัวบ้างเพียง 3 ใน 10,000 คน แต่ก็แก้ไขได้ด้วยการให้ยาขยายหลอดเลือด ก็ทำให้ภาวะชาและอ่อนแรงกลับมาเป็นปกติได้แล้ว
————————————————————————
ฉะนั้นสรุปง่ายๆ คือ วัคซีนทุกตัวมีผลข้างเคียงกันทั้งนั้นแหละ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่า 1 ใน 100,000 ดังนั้นการฉีดวัคซีนแม้จะเสี่ยง แต่ก็น้อยกว่าความเสี่ยงที่จะติด COVID-19 แล้วมีอาการติดเชื้อรุนแรงแน่นอน
————————————————————————
สุดท้ายคือ อย่างที่เค้าบอกกันแหละว่า ถ้ามีโอกาสล่ะก็ ฉีดเถอะ ไม่ต้องไปรอ มันลดความรุนแรงได้จริงๆ เพราะตอนนี้อัตราการตายทั่วโลกหลังติดเชื้อคือ 1:50 ส่วนในไทย เมื่อ 3 อาทิตย์ก่อนอยู่ที่ 1:400 แต่ตอนนี้ขยับขึ้นมาเป็น 1:180 (ค่าเฉลี่ยสัปดาห์นี้อยู่ที่ 1:100) เรียกว่าพอมีผู้ติดเชื้อมาก อัตราการเสียชีวิตก็ค่อยๆขยับขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อนคือการป้องกันที่ดีที่สุดนั่นเอง จะเป็นโรคอะไรอยู่ก็ฉีดได้หมดแหละ

ยกเว้นอย่างเดียวคือ “โรคพารานอยย์ ไม่ยอมฉีด” เท่านั้น

เครดิต หมอเวร