ประยงค์ รณรงค์.. ปราชญ์ชาวบ้าน

5026

ที่อยู่ปัจจุบัน บ้านเลขที่ 51 หมู่ 9 ต.ไม้เรียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช 80260

อาชีพ อาชีพหลัก ทำสวนยางพารา อาชีพรอง ทำสวนผลไม้ (สวนสมรม) อาชีพเสริม เลี้ยงสัตว์ (ปลา,ไก่พื้นเมือง)การศึกษา จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านนาเส หมู่ที่ 5 ต.นากะชะ อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช

 

การศึกษาดูงาน

ศึกษาดูงาน ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ปี พ.ศ. 2528 เป็นเวลา 12 วัน
ศึกษาดูงานด้านสหกรณ์ อุตสาหกรรมชุมชน และเกษตรกรรม ในประเทศฝรั่งเศส – เยอรมนี – เบลเยี่ยม ในปี พ.ศ.2534 เป็นเวลา 30 วัน
ศึกษาดูงาน “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” จังหวัดโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ.2544 เป็นเวลา 4 วัน
ร่วมคณะสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ลาว กัมพูชา ปี พ.ศ.4545 เป็นเวลา 3 วัน
ศึกษาดูงานในประเทศฟิลิปปินส์ ขณะเดินทางไปรับรางวัลรามอน แมกไซไซ ปี พ.ศ.2547 เป็นเวลา 7 วัน
ศึกษาดูงาน ณ ประเทศภูฏาน ปี พ.ศ.2549 เป็นเวลา 5

[space class=”” ]

ประสบการณ์การทำงาน

ปี พ.ศ.2527 เป็นผู้นำการก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรทำสวนยางตำบลไม้เรียง
ปี พ.ศ.2530 – 2534 เป็นผู้จัดการกลุ่มเกษตรทำสวนยางไม้เรียง
ปี พ.ศ.2535 – 2547 เป็นประธานกลุ่มเกษตรกรทำสวนยางไม้เรียง
ปี พ.ศ.2535 – ปัจจุบัน เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง
ปี พ.ศ.2536 เป็นประธานเครือข่ายยมนา (ยาง,ไม้ผล,นาข้าว)
ปี พ.ศ.2539 เป็นผู้นำจัดทำแผนแม่บทชุมชนไม้เรียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช
ปี พ.ศ.2540 เป็นผู้นำจัดทำแผนแม่บทการพัฒนายางพาราไทย ฉบับประชาชน
ปี พ.ศ.2541 – 2545 เป็นกรรมการบริหารกองทุนเพื่อสังคม (SIF)
ปี พ.ศ.2541 – 2547 เป็นประธานบริษัทเครือข่ายผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด (วิสาหกิจชุมชน)
ปี พ.ศ.2544 – 2546 เป็นกรรมการบริหารโครงการเกษตรกรรมยั่งยืน (DANCED)
ปี พ.ศ.2544 – 2547 เป็นอนุกรรมการประสานงานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
ปี พ.ศ.2544 – ปัจจุบัน เป็นกรรมการบริหารวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.)
ปี พ.ศ.2546 – ปัจจุบัน เป็นกรรมการมูลนิธิหมู่บ้าน
ปี พ.ศ.2547 – ปัจจุบัน เป็นกรรมการมูลนิธิสถาบันพัฒนาทรัพยากรชุมชน
ปี พ.ศ.2548 เป็นประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยผู้นำชุมชนท้องถิ่น สำนักนายกรัฐมนตรี
ปี พ.ศ.2549 ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คณะกรรมการสมานฉันท์)
ปี พ.ศ.2549 ได้รับการแต่งตั้งเป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (กรรมาธิการการเกษตร ฯลฯ)

ประวัติเกียรติคุณที่ได้รับ

รางวัลผู้นำอาชีพก้าวหน้า โดยคณะกรรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ.2530
รางวัลคนดีศรีสังคม โดยคณะกรรมการคัดเลือกคนดีศรีสังคม ปี พ.ศ.2537
รางวัลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ปี พ.ศ.2540
รางวัลครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 1 โดยสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ปี พ.ศ.2544
ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
รางวัลแมกไซไซ สาขาผู้นำชุมชน จากมูลนิธิรามอน แมกไซไซ ประเทศฟิลิปปินส์ ปี พ.ศ.2547
ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ปี พ.ศ.2547
ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช
ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เกษตรศาสตร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ปริญญาพัฒนาชุมชนดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ.2548
ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการชุมชน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปี พ.ศ.2548
ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พัฒนาสังคม) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ปี พ.ศ.2548
ปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เกษตรศึกษา)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ปี พ.ศ.2549
ปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เกษตรศาสตร์) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปี พ.ศ.2549
รางวัลบุคคลดีเด่นของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ. 2549
ปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 48 ปี พ.ศ. 2549

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ร ง ภ. ท ช.

ปี 2552 รางวัล ปราชญ์ของแผ่นดิน สาขาพัฒนาชุมชนและเครือข่าย

 

—————————-

ครูประยงค์บอกเล่าเรื่องชีวิตที่ผ่านมา..

ผม เกิดปี 2480 ในท้องที่อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นถิ่นทุรกันดาร ห่างไกลความเจริญ และเติบโตมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยุคข้าวยากหมากแพง จึงไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือจบแค่ ป.4 แล้วก็ออกมาช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ส่งน้องๆ เรียน โตขึ้นจึงต้องยึดอาชีพเกษตรกรเหมือนพ่อแม่ แต่ผมสังเกตพบว่าเกษตรกรเมื่ออายุ 60-70 ปี แล้วยังต้องทำงานหนักตากแดดตากฝน หาเช้ากินค่ำอยู่อย่างลำบาก แต่ข้าราชการพออายุ 60 ปี ก็เกษียณอายุราชการ มีบำนาญกินอยู่อย่างสบาย ผมจึงคิดในใจว่าถึงแม้ผมเป็นเกษตรกร ในบั้นปลายชีวิตผมก็จะเกษียณอายุจากเกษตรกรด้วยเหมือนกัน แต่ก่อนหน้านั้นเราจะต้องสร้างบำนาญไว้ให้ตัวเองก่อน เพื่อจะได้มีกินมีใช้ไม่ลำบากเมื่อเวลานั้นมาถึง

ผมเริ่มก่อร่าง สร้างตัว มีครอบครัวเมื่ออายุ 25 ปี พ.ศ.2505 จึงได้วางแผนที่จะต้องทำงานหนักสัก 30 ปี เพื่อสร้างบำนาญให้กับตัวเอง คาดว่าจะปลดเกษียณตัวเองเมื่ออายุ 55 ปี ราชการทำงานไม่หนักเขาเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี แต่เกษตรกรทำงานหนัก 55 ปี ก็น่าจะพอเหมาะ ด้วยความมุ่งมั่นพยายามตลอดเวลา 30 ปี ผมประสบความสำเร็จในชีวิต มีอาชีพที่มั่นคง ครอบครัวมีความสุขตามอัตภาพ ลูก ๆ ทั้ง 5 คนสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่มีหนี้สิน ผมจึงได้บอกปลดเกษียณตัวเองจากเกษตรกรกับลูกๆ เมื่อปี 2535 ซึ่งเป็นปีที่ผมอายุครบ 55 ปี ภรรยาผมอายุ 54 ปี ผมบอกกับลูกๆ ว่าต่อไปนี้พ่อกับแม่จะไม่เป็นที่พึ่งของลูกอีกต่อไป โดยจะเป็นเพียงที่ปรึกษา และจะให้ลูกเป็นที่พึ่งในบั้นปลายของชีวิต โดยมอบส่วนที่เป็นบำนาญของผมให้ลูกคนหนึ่งเป็นผู้ดูแล

ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ผมตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะใช้เวลาในบั้นปลายชีวิตที่เหลืออยู่ ใช้ประสบการณ์ที่มีอยู่ทำประโยชน์ให้เกิดกับผู้อื่น ชุมชน สังคมหรือประเทศชาติ เพื่อเป็นการตอบแทนคุณแผ่นดิน โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือรางวัลต่างๆ ก็ปฏิเสธมาตลอด จนถึงปี 2547 ทางมูลนิธิรามอนแมกไซไซ ได้คัดเลือกให้ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาผู้นำชุมชน ครั้งนี้ผมปฏิเสธไม่ได้เพราะเป็นเกียรติยศชื่อเสียงของชาติด้วย จึงเป็นต้นเหตุที่ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนแปลงไป คือจากที่เคยทำทุกอย่างตามที่กำหนดเอง โดยจะต้องทำตามใจคนอื่นมากขึ้น จึงต้องไปเกี่ยวข้องกับภาคส่วนต่างๆ ที่หลากหลายขึ้น ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน ตลอดจนสภาบันการศึกษาต่างๆ

เมื่อปลายเดือนกันยายน 2549 อยู่ ๆ ก็มีเพื่อนโทรศัพท์มาแสดงความยินดีที่ได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พอรับทราบครั้งแรกก็ตกใจเหมือนกัน เพราะไม่เคยทราบล่วงหน้ามาก่อน และที่ผ่านมาก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับการเมือง เนื่องจากไม่ถนัดและไม่เท่าทันแนวคิดแนวปฏิบัติของนักการเมือง แต่ก็รู้สึกว่าได้รับเกียรติที่สูงส่งมากในชีวิตนี้

หลังจากได้ พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วก็ได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า เป็นโอกาสที่เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้ ถึงแม้ว่าจะไม่ชอบการเมืองแต่เราก็ต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองตลอดชีวิต ครั้งนี้ก็คิดว่าเราไม่ได้เป็นนักการเมือง เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มีโอกาสเข้ามาทำหน้าที่ทางการเมือง จึงทำใจให้สงบแล้ววางแผนในการทำงานอย่างรัดกุมที่สุด เนื่องจากได้ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้แล้วว่าจะไม่ยอมเป็นเครื่องมือใคร ถ้าเห็นอะไรที่ไม่ชอบมาพากลก็จะถอยห่างทันที แต่งานนี้อาจจะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ทำงานแล้วต้องได้รับเงินเดือนเป็นค่า ตอบแทน ซึ่งเงินเดือนก็สูง ถ้าเพียงเพื่อศึกษาเรียนรู้ก็ไม่คุ้มกับเงินเดือนที่ได้รับ การทำหน้าที่ในสภาก็ไม่ถนัดโดยเฉพาะการลุกขึ้นอภิปราย เพราะพูดไม่เก่ง จึงพยายามนั่งประชุมตลอดการประชุม และใช้สิทธิในการลงมติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างอิสระและเป็นตัวของตัว เอง

สิ่งที่ทำให้ผมได้เรียนรู้ในครั้งนี้คือ การพูดการอภิปรายในสภาบางครั้งก็ไม่เกิดประโยชน์ และทำให้สภาต้องเสียเวลาโดยใช่เหตุ สำหรับตัวผมเองมีน้อยมากที่ผู้อภิปรายที่มีความเห็นที่ต่างจากความเห็นผม คำอภิปรายของเขาไม่สามารถลบล้างเหตุผลของผม และให้ผมกลับความเห็นด้วยกับเขา ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอร่างฯ ขอความคิดเห็นจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีสมาชิกท่านหนึ่งขอให้ผมช่วยลงชื่อรับรองขอแปรญัติติเพิ่มเติม คำว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ซึ่งผมขอปฏิเสธไม่เซ็นชื่อ โดยให้เหตุผลว่าผมนับถือศาสนาพุทธและบวชเรียนมาแล้ว 2 พรรษา เรียนสอบได้นักธรรมโท แต่ผมไม่เห็นด้วยที่จะใช้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะผมมีเหตุผลว่าศาสนาพุทธหรือพระสงฆ์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สมควรแล้วที่จะต้องอยู่เหนือรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายทั้งปวง เพราะศาสนาพุทธหรือพระสงฆ์มีพุทธบัญญัติคือพระธรรมเป็นข้อปฏิบัติ มีพระวินัยเป็นข้อห้ามกำหนดอยู่แล้ว ถ้ามากำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอีกก็เท่ากับดึงเอาพระพุทธศาสนาและพระภิกษุสงฆ์ลง มาไว้ใต้รัฐธรรมนูญ ความศักดิสิทธิ์ก็จะลดลง เพราะรัฐธรรมนูญร่างโดยปถุชนคนธรรมดา ไม่ใช่พุทธบัญญัติ และต่อไปก็อาจจะมีผู้หวังดีต่อพระพุทธศาสนา ไปยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยหมวดพระพุทธศาสนาขึ้นมา ก็จะยิ่งทำให้พระพุทธศาสนาลดความศักดิสิทธิ์ลงไปเรื่อยๆ ผมมีความเห็นว่าความเจริญหรือความเสื่อมของพระพุทธศาสนาอยู่ที่การปฏิบัติ ของผู้สืบทอด ไม่ได้อยู่ที่การเขียนกฎหมายแต่อย่างใด

หลังจากนั้นก็ มีผู้อภิปรายสนับสนุนให้บรรจุคำว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติตั้งหลายท่าน โดยไม่มีผู้อภิปรายคัดค้านเลย แต่ก็ไม่สามารถลบล้างเหตุผลของผมได้ ในที่สุดผมก็ยังกดไม่เห็นด้วย จึงสรุปได้ว่าการอภิปรายที่ซ้ำซากได้ผลไม่มากนัก ผมจึงให้ความสำคัญกับคณะกรรมาธิการเป็นพิเศษ เพราะกรรมาธิการไม่ว่ากรรมาธิการสามัญหรือกรรมาธิการวิสามัญก็ตาม ลงรายละเอียดจนได้ข้อสรุปเป็นเรื่องๆ และบัญญัติออกมาเป็นกฎหมายได้ ถึงแม้ผมจะไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย แต่พอเข้าใจได้ว่าถ้ากฎหมายว่าไว้อย่างนี้ เวลาปฏิบัติจะมีผลอย่างไร จึงตัดสินใจสมัครเข้าอยู่ในคณะกรรมาธิการสามัญการเกษตรและสหกรณ์ เป็นผลต่อเนื่องไปจนถึงกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรหลายฉบับ ถึงตอนนี้รู้สึกว่าคุ้มกับค่าตอบแทนที่ได้รับมากขึ้น และยังได้เรียนรู้ว่าสภาที่มาจากการแต่งตั้งก็มีส่วนดีอยู่มากเหมือนกัน คือสมาชิกทุกท่านมีอิสระไม่ต้องเป็นห่วงฐานคะแนนเสียง หรือไม่มีมติพรรคการเมืองใดๆ อยู่ข้างหลัง จึงทำให้ทุกท่านปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มความสามารถ

เนื่องจากก่อนที่ จะมาทำหน้าที่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผมก็ได้ร่วมมือกับหลายๆ ฝ่ายทำกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการผู้นำชุมชนแห่งชาติ และในพื้นที่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีกิจกรรมร่วมกันกับชุมชน หน่วยงานต่างๆ ตามยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดของคณะกรรมการการพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการ โดยมีผู้ว่าราชการนครศรีธรรมราช (นายวิชม ทองสงค์) เป็นประธาน จึงต้องกำหนดวันทำงานที่แน่นอน คือ วันอังคาร พุธ พฤหัสบดี อยู่รัฐสภา ประชุมกรรมาธิการฯ และสภานิติบัญญัติฯ วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์อยู่ในพื้นที่ วันจันทร์ถึงจะเดินทางขึ้นกรุงเทพฯ เพื่อสะดวกในการติดต่อประสานงาน

สุด ท้ายนี้ผมขอภาวนาให้สถานการณ์วุ่นวายต่างๆ ที่เป็นอยู่ขณะนี้ จงคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบบสู่เป้าหมายที่ทุกคนคาดหวัง หน้าที่ของผมก็จะได้จบสิ้นตามกำหนด และผมก็จะได้กลับไปทำหน้าที่ในบทบาทที่เหมาะสม ประสบการณ์ครั้งนี้ก็ถือเป็นเกียรติประวัติสูงสุดในชีวิตที่ไม่คาดคิดมาก่อน จึงได้จารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ชีวิต และตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำแต่สิ่งที่ดีตลอดชีวิตนี้

“ชีวิต… คือการเรียนรู้
ต้องรู้…ในสิ่งที่จะทำ
และทำ…ในสิ่งที่รู้จริง”

*******************–************************

เศรษฐกิจพอเพียงที่ผมเข้าใจ

เรียบเรียงโดย  ประยงค์  รณรงค์

ใน ช่วงต้น ๆ ของการก่อร่างสร้างตัวและครอบครัวของผม  หลังจากที่ตอนวัยหนุ่มได้ทดลองหรือลองผิดลองถูกในการประกอบอาชีพ ที่จะใช้เป็นอาชีพถาวรต่อไป ผมแต่งงานและออกเรือนมีครอบครัวเมื่อปี พ.ศ.2504  และได้ยึดเอาอาชีพการเกษตรที่มีการทำสวนยางพาราเป็นอาชีพหลัก ทำสวนผลไม้ (สวนสมรม) เป็นอาชีพรอง มีการเลี้ยงสัตว์และทำอย่างอื่นบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเป็นรายได้เสริม แต่มีความตั้งใจว่าจะต้องสร้างสวัสดิการหรือบำนาญให้ตัวเองและภรรยา ให้สามารถปลดเกษียณจากเกษตรกรให้ได้เมื่อตอนอายุ 55 ปี  คือคาดว่าถ้าตั้งใจทำงานหนักและมีการวางแผนเรื่องรายได้และรายจ่ายอย่างดี แล้ว ในเวลา 30 ปี  ครอบครัวจะมีความมั่นคง และพึ่งตนเองได้แน่นอน ในขณะที่กำลังทำงานหนัก และมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายของชีวิตที่ได้วางแผนไว้นั้น  บางครั้งก็มีปัญหาอุปสรรคมาก จึงเกิดความลังเล ท้อแท้กังวลว่าสิ่งที่ผมกำลังทำอยู่จะเป็นทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่  จนวันหนึ่ง ประมาณ ปี พ.ศ.2525  ผมได้ทราบพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรื่อง “ปรัชญาเศรษฐ์กิจพอเพียง” จึงมีความมั่นใจว่าใช่แล้ว สิ่งที่ผมกำลังคิดกำลังทำอยู่นี่แหละ สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง จึงได้ศึกษาเพิ่มเติมและทำอย่างเข้มข้นมากขึ้น ไม่ได้สนใจกับความรุ่งเรืองฟุ้งเฟ้อของสังคมในขณะนั้น เพราะถ้าเอาสถานการณ์ในขณะนั้นมาเปรียบเทียบกับแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจ พอเพียงแล้ว รู้สึกว่าเรากำลังเสี่ยงเกินไป การแยกตัวเองออกจากสังคมทุนนิยมในขณะนั้นจึงค่อนข้างโดดเดี่ยวพอสมควร แต่ก็มีความมั่นใจมากขึ้น เพราะเริ่มเห็นว่าเราสามารถแก้ปัญหาของตัวเอง ด้วยตัวเอง ได้มากขึ้น ในเวลาเดียวกันก็ใช้วิธีพูดคุยทำความเข้าใจกับภรรยาและลูก ๆ ตลอดเวลา เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวมีความเข้าใจในแนวทางเดียวกัน และร่วมกันปฏิบัติตนในแนวทางที่ถูกต้อง

ประมาณ ปี พ.ศ.2535  ผมรู้สึกว่าผมประสบความสำเร็จในชีวิตที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ถึงแม้จะไม่เป็นคนร่ำรวยแต่ก็มีความมั่นคง มีสวัสดิการให้ตัวเอง ลูก ๆ ช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่มีหนี้สินที่จะต้องเป็นมรดกตกทอดให้ลูกต้องเดือดร้อน ลูกทุกคนถึงแม้จะมีครอบครัวกันแล้วก็ยังไปมาหาสู่กันเป็นประจำ รักใคร่กลมเกลียวกันดี ผมจึงสรุปในใจกับชีวิตตัวเองได้ว่า ความต้องการสูงสุดของคน คือ ความสุข  แต่ความสุขของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน บางคนอาจคิดว่าถ้ามีเงินเยอะๆ แล้วจะมีความสุข บางคนคิดว่าถ้ามีอำนาจ มีคนคอยเอาใจล้อมหน้าล้อมหลังแล้วจะมีความสุข เป็นต้น  แต่ส่วนตัวผมสรุปได้ว่า “ความสุขอยู่ที่ใจ”ถ้าใจเรามีความพอเพียงแล้ว ไม่ต้องร่ำรวย ไม่ต้องมีอำนาจก็สุขได้ ผมจึงพยายามตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา และยังหาคำตอบไม่ได้อยู่จนบัดนี้ คือที่ทุกคนพยายามให้ได้เงินเยอะๆ แสวงหาอำนาจเยอะๆ โดยไม่รู้จักพอ เขาเอาไปทำอะไร เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ทั้งนั้น

ปี พ.ศ.2535  ผมได้มาถึงเป้าหมายแห่งชีวิตที่ได้วางไว้แล้วว่า เมื่ออายุครบ 55 ปี  ผมจะเกษียณตัวเองออกจากอาชีพเกษตรกร ผมจึงได้บอกกับลูก ๆ ว่าต่อแต่นี้เป็นต้นไปพ่อและแม่จะไม่เป็นที่พึ่งของลูก ๆ แล้วนะ  ขอเป็นเพียงที่ปรึกษาและจะยึดลูก ๆ เป็นที่พึ่งในบั้นปลายของชีวิต  แต่จะให้เวลาที่เหลืออยู่ ใช้ประสบการณ์ที่มีอยู่ทำประโยชน์ให้กับสังคมให้ส่วนรวม โดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทนใด ๆ เพื่อเป็นการทดแทนคุณแผ่นดิน  และจะไม่กำหนดเป้าหมายที่จะทำให้เกิดความเครียด จะทำทุกอย่างให้เป็นไปตามธรรมชาติด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความเป็นจริงของสังคม การเริ่มต้นงานส่วนรวมคือ การร่วมกันปรึกษาหารือกับแกนนำในชุมชน ก็มีความเห็นพ้องต้องกันว่าสิ่งที่ชุมชนขาดแคลนคือ “ความรู้ความสามารถในการจัดการทรัพยากร”  ทั้ง ๆ ที่เราเป็นเจ้าของทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นผลผลิต ภูมิปัญญา ทรัพยากรธรรมชาติ หรือแม้แต่ทุนที่เป็นเงิน เราก็ยอมให้คนอื่นมาจัดการหมด เราจึงกลายมาเป็นเครื่องมือให้เขาไปสร้างความร่ำรวย แต่เราที่เป็นเจ้าของทรัพยากรแท้ ๆ กลับเป็นผู้ยากจน  เพราะฉะนั้นสรุปได้ว่า ปัญหาอยู่ที่คน ถ้าจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุก็ต้องแก้ที่คน ทำให้คนมีความรู้ ความสามารถ แล้วคนก็จะไปแก้ปัญหาของตัวเองได้ด้วยตัวเอง     เมื่อทุกคนแก้ปัญหาของตัวเองได้ ปัญหาของชุมชน ของสังคมก็จะได้รับการแก้ไขไปด้วย จึงได้ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียงขึ้น ในปี พ.ศ.2535

ศูนย์ ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง จึงเป็นองค์กรชุมชนที่จัดตั้งโดยชุมชนอย่างไม่เป็นทางการ  เพื่อเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท   ใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน เป็นเวทีของชุมชน เป็นแหล่งข้อมูลชุมชน เป็นที่ฝึกอบรมและเป็นสถานที่ปฏิบัติการเพื่อทดลองการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างหลากหลาย เพื่อสนองความต้องการของชุมชน ในการพัฒนาอาชีพหลัก สร้างอาชีพรอง และอาชีพเสริมสำหรับผู้ที่สนใจ ให้ทุกคนได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาต้องการจะรู้ เพราะเขาจะต้องเรียนรู้ก่อนที่จะทำ และต้องทำในสิ่งที่รู้จริงแล้วเท่านั้นจึงจะไม่เสี่ยงมากนัก

การ จัดการเรียนรู้ในชุมชน จึงต้องมีความหลากหลาย  เพราะวิถีชีวิตของคนในชุมชนมีความสัมพันธ์กันอยู่หลายด้าน การจัดการจึงต้องมีองค์กรการประสานงานที่ชัดเจน เพราะต้องสร้างความร่วมมือกันหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน เครือข่ายต่าง ๆ รวมทั้งสถาบันการศึกษา  เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วภายใต้กระแสโลกา ภิวัฒน์  เพียงอาศัยประสบการณ์ของชาวบ้านอย่างเดียวอาจจะไม่ทันการและเสี่ยงเกินไป จึงต้องประสานกับสถาบันการศึกษา หรือฝ่ายวิชาการจากหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสมเข้าช่วย เพื่อลดความเสี่ยงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น  แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่ชุมชนสามารถควบคุมได้ด้วย
การสร้างเครื่องมือ เพื่อใช้ในกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน ก็มีความจำเป็นพอสมควร เพราะชาวบ้านมีพื้นฐานความรู้เดิมน้อยมาก แต่ประสบการณ์หรือภูมิปัญญาที่มีการถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นวัฒนธรรมของแต่ละ ชุมชนยังมีความเข้มแข็งอยู่พอสมควร เพราะฉะนั้นการที่จะต้องสร้างเครื่องมือให้เกิดการผสมผสานกับความรู้เดิม และความรู้ใหม่ที่จะเสริมเข้ามาจะต้องสอดคล้องสัมพันธ์กันเป็นตัวเชื่อมที่ กลมกลืน คำว่า “แผนแม่บทชุมชน” ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียงร่วมกับนักวิชาการของมูลนิธิหมู่บ้านคิด ขึ้นมา และใช้เป็นเครื่องมือให้คนในชุมชนไม้เรียงมาเรียนรู้ร่วมกัน ผลของการเรียนรู้ร่วมกันทำให้คนรู้จักตัวเอง รู้จักชุมชน รู้จักทรัพยากร รู้จักความสามารถที่ยังไม่ได้พัฒนา รู้จักโลกภายนอก เป็นการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ เพราะชุมชนรู้จักรากเหง้าของตัวเอง รู้สาเหตุของปัญหา ที่มาของผลกระทบต่าง ๆ ที่ผ่านมา จึงสามารถวางแผนป้องกันปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต และวางแผนในการพัฒนาสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ได้ในเวลาเดียวกัน สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้โดยชุมชนเอง

การ ที่ผมเริ่มต้นที่ตัวเอง เมื่อประสบความสำเร็จจากประสบการณ์ก็เอาประสบการณ์ไปขยายผลให้ผู้อื่นที่ สนใจไปแก้ปัญหาของเขาได้ ก็กลายเป็นตัวอย่างต่อเนื่องไปกว้างขวางมากขึ้น จนเป็นที่ยอมรับทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน สถาบันการศึกษา แต่ถ้ามาหาข้อสรุปปัจจัยแห่งความสำเร็จน่าจะอยู่ที่…

1. ตัวอย่างจากการปฏิบัติของตัวผมเอง ที่มีความเป็นอยู่แบบพอเพียง มีความสุข ความสงบตามอัตภาพ ทั้งตัวเองและครอบครัว

2. มีเวลาและความอิสระในการคิด การทำ การร่วมมือกับผู้อื่น โดยให้ความเท่าเทียม และยอมรับความคิดเห็นผู้อื่น

3. ทำทุกอย่างให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่น โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆและเมื่อได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าสิ่งที่จะทำเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ แล้วก็จะทำจนสำเร็จไม่มีการท้อถอย

4. มีความพร้อมทั้งส่วนตัวและครอบครัว

5. มีความสนใจศึกษาเรียนรู้ตลอดเวลา จึงทำให้รู้เห็น ทันต่อความเคลื่อนไหวความเปลี่ยนแปลง

จึง เกิดความสนุกและเพลิดเพลินกับการได้ทำงานโดยไม่รู้สึกเครียดหรือเหน็ด เหนื่อยแต่อย่างใด จนถึงปัจจุบันนี้ ความรู้สึกและความเข้าใจของผมเองสรุปว่า เศรษฐกิจพอเพียงเหมาะสำหรับผู้ที่อ่อนแอ ไม่ว่าตัวบุคคล หน่วยงาน องค์กร ชุมชนหรือสังคม ถ้ายังรู้สึกว่าอ่อนแอ ก็ต้องเริ่มที่เศรษฐกิจพอเพียงก่อน ถ้าเป็นตัวบุคคลที่กำลังเดือดร้อนอยู่ต้องเริ่มที่ทำให้พออยู่พอกินให้ได้ ก่อนเมื่อพออยู่พอกินแล้วก็มาวิเคราะห์ว่าเรายังมีความสามารถเหลืออยู่อีก หรือไม่ มีทรัพยากรอะไรที่ยังไม่ได้นำมาพัฒนา ก็ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ทำให้อยู่ดีกินดีเพิ่มขึ้นก็ได้ เมื่ออยู่ดีกินดีแล้วก็มองดูรอบ ๆ ตัวเราว่ามีเพื่อนเราเดือดร้อนอยู่รอบตัวเราบ้างไหม ถ้ามีเราจะมีส่วนช่วยเหลือเขาได้อย่างไร คุณธรรม 4 ประการ คือ เมตตา กรุณา มิทิตา อุเบกขา  จึงต้องนำมาเป็นเครื่องมือของการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะก้าวไปสู่ความอยู่ดีมีสุข ซึ่งเป็นปราถนาสุดยอดของคนได้ในที่สุด เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เหมาะสำหรับคนยากจนหรือเกษตรกรเท่านั้น  ใครก็ตามที่ยังอ่อนแอ เช่น บริษัทหรือธุรกิจที่มีเงินลงทุนเป็นร้อยล้าน แต่ถ้าหนี้สินยังสูงกว่าสินทรัพย์  ก็ต้องมาเริ่มที่เศรษฐกิจพอเพียงก่อน  เมื่อเข้มแข็งแล้วต่อไปเข้าสู่ระบบทุนนิยมก็จะไม่มีปัญหา

แนวคิด และผลงานการพัฒนาชุมชน

การพัฒนาอาชีพ ทำสวนยางพารา

แนวคิด
สวน ยางพาราเป็นอาชีพหลักของคนภาคใต้และภาคตะวันออก แต่ระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมาชาวสวนยางพารายังมีปัญหาความยากจนเหมือนกับ เกษตรกรในภาคการผลิตอื่น ๆ ซึ่งแตกต่างจากพ่อค้าที่รับซื้อผลผลิตไม่กี่ปีก็ร่ำรวย เพราะเกษตรกรทำเพียงขั้นตอนการผลิตซึ่งมีความสี่ยง เนื่องจากผลผลิตขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ ราคาขึ้นอยู่กับตลาดโลก ความมั่นคงขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐ  ซึ่งเกษตรกรไม่สามารถกำหนดอะไรได้เลย

วิธีทำ
นำ เสนอแนวคิด สรุปประสบการณ์ ทบทวนปัญหาตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน เพื่อวิเคราะห์อนาคต ก็พบว่าปัญหาอยู่ที่การจัดการ เพราะเกษตรกรได้มอบการจัดการให้ตกอยู่ที่คนอื่นทั้งหมด คือการกำหนดคุณภาพ กำหนดน้ำหนัก กำหนดราคา มอบให้พ่อค้าหรือผู้ซื้อเป็นผู้กำหนด จึงมีปัญหามาตลอด
จากข้อสรุปข้างต้น จึงทำให้ชาวสวนยางที่ชุมชนไม้เรียงกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งตัดสินใจร่วมกันที่จะวางแผนสร้างแนวทางแก้ปัญหาให้กับตัวเอง ตั้งแต่ระบบการผลิต การแปรรูป การจัดการด้านการตลาด โดยการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรทำสวนไม้เรียง สร้างโรงงานแปรรูปน้ำยางสด เป็นยางแผ่นอบแห้ง และยางแผ่นรมควัน ตามความต้องการของตลาดตั้งแต่ ปี พ.ศ.2527 จนถึงปัจจุบัน

เป้าหมาย
เป็น การจัดการทรัพยากรของชุมชนเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มลดขั้นตอนที่เป็นภาระและ ค่าใช้จ่ายของเกษตรกรที่เป็นสมาชิก แก้ปัญหาต่าง ๆ ในการประกอบอาชีพ ใช้องค์กรเป็นเครื่องมือในการจัดการเพื่อการพึ่งตนเอง พึ่งพาอาศัยกันในระบบเครือข่าย

การจัดการเรียนรู้ในชุมชน

 แนวคิด  
ชุมชน ไม้เรียงได้พัฒนาอาชีพหลัก คือ การทำสวนยางพารา มีความก้าวหน้าจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่พบว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง เพราะวิถีชีวิตของคนในชุมชนไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันหลายเรื่อง การแก้ปัญหาเรื่องยางอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ปัญหาอื่นหมดไปด้วย ปัญหาหลายเรื่องเกิดจากคนในชุมชนขาดความรู้ จึงไม่มีความสามารถในการการแก้ปัญหา ป้องกันปัญหา และพัฒนาสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ การทำในสิ่งที่ตัวเองยังไม่รู้จริง ปัญหาที่ตามมาคือความไม่สำเร็จ การล้มเหลวแต่ละครั้งทำให้เกิดเป็นหนี้เพิ่ม เกิดความท้อแท้ และหมดกำลังใจในที่สุด

วิธีทำ   
จัด ตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียงขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2535 เพื่อต้องการศึกษาวิจัยปัญหาและข้อขัดข้องต่าง ๆ ตลอดถึงสาเหตุ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จัดทำข้อมูลรายละเอียดที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์สถานการณ์ที่มีผลกระทบอยู่ในปัจจุบัน

เป้าหมาย 
เพื่อ ให้คนในชุมชนได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาต้องการจะรู้และให้เขาได้เรียนรู้ใน สิ่งที่ควรจะรู้เพราะพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นเพราะคนในชุมชนทำใน สิ่งที่ตนเองยังไม่มีความรู้ จึงประสบกับปัญหาและขาดวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม ในที่สุดก็ไม่ประสบความสำเร็จศูนย์การศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียงจึงเน้นให้ ทุกคนมีโอกาสได้เรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการจะรู้ เพราะต้องรู้ในสิ่งที่ต้องการจะทำ และทำในสิ่งที่รู้แล้วเท่านั้นจึงจะสำเร็จ จึงทำให้ศูนย์การศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ขึ้น มีหลักสูตรที่หลากหลายตามความต้องการของผู้เรียน ด้วยการสร้างความร่วมมือกันหลายฝ่าย โดยศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียงเป็นฐานหลัก ร่วมด้วยหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ การศึกษานอกโรงเรียน ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร เทศบาลตำบลไม้เรียง มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยทักษิณ สำนักงานพลังงานแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นต้น จัดการเสริมการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับปริญญาตรี

การจัดทำแผนแม่บทชุมชน

แนวคิด
จาก ประสบการณ์ที่ชุมชนได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนายางพาราไทย ซึ่งคิดว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะเป็นเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในกลุ่มอาชีพการทำสวนยาง ซึ่งเป็นการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง รู้จริง ทำได้จริง จึงมีความมั่นใจมากขึ้น  แผนแม่บทชุมชนจึงเป็นเครื่องมือหนึ่ง ที่ทำให้คนในชุมชนมาเรียนรู้ร่วมกัน เรียนรู้เรื่องตัวเอง เรียนรู้เรื่องผลกระทบจากภายนอก (เรียนรู้โลกภายนอก)  ผลของการเรียนรู้ได้ข้อสรุป  นำข้อสรุปมากำหนดเป็นแผนปฏิบัติเพื่อนำไปสู่เป้าหมายร่วมกัน มีแนวทางในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แนวทางป้องกันปัญหาที่คาดว่าจะขึ้นในอนาคต มีแนวทางในการพัฒนาให้เกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นใหม่ในเวลาเดียวกัน

วิธีทำ  
เริ่ม ต้นจากการค้นหาผู้นำ ให้ได้ผู้นำที่ได้รับการยอมรับ อาจจะเป็นผู้นำที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ (ผู้นำธรรมชาติ) ที่สำคัญจะต้องเป็นบุคคลที่ชาวบ้านยอมรับนับถือ เป็นที่ปรึกษาของคนในชุมชนอย่างน้อยหมู่บ้านละ 5 คน มาเป็นคณะทำงาน จัดประชุมสัมมนาพูดคุย ทำความเข้าใจร่วมกัน แล้วไปช่วยกันขยายผลในหมู่บ้านของตนเอง พร้อมด้วยทำข้อมูลที่จำเป็นเพื่อนำมาวิเคราะห์ให้ได้ทิศทางที่จะนำไปสู่เป้า หมายในการแก้ปัญหา ป้องกันปัญหา และการพัฒนาร่วมกัน เน้นการพึ่งตนเองเป็นหลักภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เป้าหมาย   
ดัง ที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า แผนแม่บทชุมชนคือเครื่องมือของการเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน ผลของการเรียนรู้ที่ได้ข้อสรุปร่วมกันคือเป้าหมายของการพัฒนา การมีแผน มีเป้าหมาย มีขั้นตอนที่ชัดเจน เป็นการป้องกันความอยากหรือความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของมนุษย์ เพราะความอยากไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีขอบเขต ไม่มีเหตุผล การมีแผนคือมีเป้าหมาย มีเหตุผลรองรับทางความคิด มีเหตุผลของการตัดสินใจได้ข้อสรุปร่วมกัน ยอมรับร่วมกัน เพราะผลที่จะเกิดการพัฒนาเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ต้องอยู่ที่การนำแผนลงสู่การปฏิบัติ การยอมรับร่วมกันก็จะเกิดความร่วมมือในการปฏิบัติ ผลการปฏิบัติจึงเกิดการแก้ปัญหา ป้องกันปัญหา และเกิดการพัฒนาในที่สุด จากการยอมรับในวงกว้างจึงผลักดันเป็นนโยบายได้

การจัดองค์กรที่เหมาะสมของชุมชน

แนวคิด      
การ ทำแผนแม่บทชุมชนเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนา และสามารถนำไปใช้ได้หลายระดับ เช่นในระดับครอบครัวก็ให้แต่ละครอบครัวได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ตามกิจกรรม ต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในแผนฯ เพื่อนำไปแก้ปัญหาและพัฒนาที่ตรงกับความต้องการของแต่ละครอบครัว แต่ถ้าหากกิจกรรมใดที่ต้องร่วมกันทำก็มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างองค์กรขึ้น มาเป็นเครื่องมือที่ต้องใช้ร่วมกัน เพราะองค์กรของชุมชนที่จัดตั้งขึ้นโดยชุมชน เป็นเครื่องมือที่ดีที่ใช้แก้ปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าที่แต่ละครอบครัวจะแก้ได้

วิธีทำ 
คำ ว่า “องค์กร” มีหลายระดับ แต่จะขอกล่าวถึงองค์กรของชุมชนไม้เรียงเป็นหลัก เฉพาะองค์กรของชุมชนไม้เรียงมีอยู่ 2 ระดับ คือ องค์กรบริหาร ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ที่ครอบคลุมกิจกรรมกว้างขวาง ทำหน้าที่บริหารอย่างเดียว เช่น “ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง” โดยมีกิจกรรมย่อยอยู่ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ฯ หลายกิจกรรม องค์กร “การจัดการ” ซึ่งเป็นองค์กรย่อยจัดการเฉพาะกิจกรรมโดยตรง เช่น กลุ่มเกษตรกรทำสวนไม้เรียง เป็นต้น องค์กรย่อยอาจจะมีรูปแบบการจัดการที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม เช่น ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันรับประโยชน์ ร่วมกันรับผิดชอบ หรือบางองค์กรร่วมกันคิด ร่วมกันเรียนรู้ แยกกันทำ รวมกันขาย บางองค์กรก็ใช้วิธี ร่วมกันคิด ร่วมกันเรียนรู้ ร่วมกันลงทุน จ้างเขาทำ ร่วมกันใช้บริการ เป็นต้น

เป้าหมาย   
ดัง ได้กล่าวแล้วว่า องค์กรคือเครื่องมือที่ใช้ในการบริหาร หรือใช้ในการจัดการ ฉะนั้นการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาก็ต้องเป็นองค์กรที่เหมาะสมกับกิจกรรมนั้น ๆ และต้องมีการจัดตั้งขึ้นตามความต้องการของชุมชน แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการกำหนดมาจากภายนอกให้มีการจัดตั้งขึ้น เพื่อรองรับกิจกรรม หรือรองรับงบประมาณ พอหมดงบประมาณกิจกรรมก็ต้องยกเลิกไป องค์กรก็ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ซึ่งไม่ควรจะเป็นอย่างนั้นอีกต่อไป

การวางระบบวิสาหกิจชุมชน

แนวคิด
จาก การจัดทำแผนแม่บทชุมชน ซึ่งต้องมีการจัดเก็บข้อมูลที่ครอบคลุมทุกด้านพบว่า เกษตรกรในชนบทเป็นผู้ครอบครองทรัพยากรมากมาย ที่เรียกว่าทุนของชุมชน แต่ก่อนคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า คำว่า “ทุน” หมายถึงเงินเท่านั้น แท้ที่จริงชุมชนมีทุนที่ไม่ใช่เงิน แต่คุณค่ามากกว่าเงินมากมาย เช่น ทุนที่เป็นทรัพยากร ผลผลิต ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางภูมิปัญญา และทุนทางสังคมอื่น ๆ อีกมากมาย น่าจะเป็นจุดแข็งของชุมชน แต่ปรากฏว่าชุมชนส่วนใหญ่ยังขาดส่วนที่สำคัญคือ “ความรู้ในการจัดการทุน” จึงทำให้คนภายนอกชุมชนเป็นเป็นผู้เข้ามาจัดการทุนของชุมชน ผลประโยชน์ก้อนใหญ่จึงไปตกอยู่กับคนภายนอกชุมชน คนในชุมชนหรือเกษตรกรเลยเป็นเพียงเครื่องมือทางธุรกิจตลอดมา
วิสาหกิจ ชุมชน จะเป็นเครื่องมือของชุมชนที่จะใช้จัดการทุนของชุมชนโดยชุมชนเอง เพื่อการเพิ่มมูลค่าทรัพยากร เพื่อแก้ปัญหา เพื่อการพึ่งพาอาศัยกัน สร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกร กับองค์กรของชุมชน อย่างสร้างสรรค์และเป็นธรรม

วิธีทำ     
จัด กระบวนการเรียนรู้ในชุมชนให้ผู้ที่สนใจ ต้องการทำในระบบวิสาหกิจชุมชน มีความรู้ ความเข้าใจ การทำธุรกิจในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เรียนรู้การจัดองค์กร การสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชน การคิดต้นทุน การวิเคราะห์สถานการณ์ การวิเคราะห์ตลาด การใช้ข้อมูลการใช้ประสบการณ์เสริมด้วยวิชาการ การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างความมั่นคงของกิจกรรม

เป้าหมาย 
ความ อยู่รอดของชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรหรือทุนทางสังคมอื่นๆ ร่วมมือกันสร้างกระบวนการเรียนรู้ในการจัดการ ร่วมมือกันสร้างเครือข่ายสัมพันธ์กัน ไม่ว่าชุมชนชนบท หรือชุมชนเมืองต่างก็มีจุดอ่อนจุดแข็งกันคนละอย่าง การสร้างระบบให้เกิดความร่วมมือกันได้อย่างสร้างสรรค์และเป็นธรรม จะสามารถพึ่งตนเองได้ พึ่งพาอาศัยกันได้ และอยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์

ความ รู้ทั้ง 5 เรื่องดังกล่าวข้างต้นซึ่งได้จากประสบการณ์โดยการปฏิบัติจริง ผ่านการทดลองและขยายผลไปสู่พื้นที่และบุคคลกลุ่มต่าง ๆ แล้วได้รับการยอมรับว่าเป็นความรู้จริงใช้ได้ทั่วไป จึงได้บันทึกไว้เป็นหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ “รวมความรู้ ประสบการณ์ และแนวคิด ของชุมชนไม้เรียง” เขียนโดย ประยงค์ รณรงค์ ซึ่งรวมความรู้ทั้ง 5 เรื่องไว้ในเล่มเดียวกัน พิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน 2546 สนับสนุนการจัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) องค์การมหาชน มอบให้ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียงจำหน่าย เพื่อเป็นทุนดำเนินงานศูนย์เรียนรู้ชุมชนไม้เรียง  เล่มที่ 2  ชื่อ “ประยงค์ รณรงค์  แมกไซไซ 2004”  จัดพิมพ์โดย สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน,มูลนิธิหมู่บ้าน,มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต พิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือน สิงหาคม 2547 จำนวนหนึ่งมอบให้กับศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียงจัดจำหน่าย สมทบทุนศูนย์เรียนรู้ชุมชนไม้เรียง
สื่ออื่น ๆ

วีซีดี “สารคดีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”  จัดทำโดย บริษัทสื่อเกษตร
วีซีดี “สารคดีชุมชนเข้มแข็ง”  จัดทำโดย โครงการกองทุนเพื่อสังคม (SIF)
ซีดีรอม “สารคดี ไม้เรียงหมู่บ้านพัฒนาแบบองค์รวม”  จัดทำโดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์